ประวัติความเป็นมาของทุ่งกุลาร้องไห้
เมื่อทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลได้กลายสภาพมาเป็นท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ ทำให้มองเห็นดินจรดขอบฟ้ามาแล้ว เป็นเวลานานเท่าไร ไม่มีใครสามารถจะบอกได้ แต่คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อหลายร้อยปีมาแล้วได้มีการไปมาค้าขายติดต่อกับพ่อค้าต่างบ้านต่างเมืองทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกลกัน มีพ่อค้าหาบสินค้าเที่ยวขายไปตามหมู่บ้านแถบทุ่งกว้างนี้เป็นประจำโดยเฉพาะในฤดูแล้ง
บรรดาพ่อค้าที่มาค้าขายในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นี้ได้มีพ่อค้าพม่าเผ่าหนึ่งมีชื่อว่า "เผ่ากุลา" ได้นำสินค้ามาเร่ขายและมากันเป็นหมู่ ๆ ละ 20-30 คน สินค้าที่นำมาขายได้แก่ สีย้อมผ้า เข็ม แพรพรรณ ยาสมุนไพร เครื่องถม ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ทารักลงสี ลวดลายสวยงามเป็นกล่องคล้ายกระติบข้าวเหนียวชาวบ้านนิยมซื้อไว้ใส่บุหรี่และหมากพลู เวลาเดินทางไปไหนมาไหน พวกพ่อค้าจะนำสินค้าใส่ถึงใบใหญ่ที่เรียกว่า "ถึงกระเทียว" มาขาย จะหาบเร่ร่อนรอนแรมไปเรื่อย ๆ เป็นแรมเดือนแรมปีขายหมดที่ใดจะซื้อสินค้าหาบขายไปเรื่อย ๆ
ครั้งหนึ่งได้มีกุลาพวกหนึ่งเที่ยวเร่ขายสินค้าจากอุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมาจนถึงสุรินทร์ พอมาถึงท่าตูม พวกกุลาได้พากันซื้อครั่งเป็นจำนวนมาก เพื่อจะนำไปทำสีย้อมผ้ามาขายอีกต่อหนึ่ง พวกกุลาต่างพากันหาบครั่งข้ามแม่น้ำมูล พอมาได้สักหน่อยหนึ่งก็ถึงท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ หมายใจว่าจะเดินตัดทุ่งไปสู่เมืองปาหลาน (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่พ่อค้าพวกนี้ยังไม่เคยเดินผ่านทุ่งนี้มาก่อน ทำให้ไม่ทราบระยะทางที่แท้จริง เพราะมองเห็นเมืองปาหลานอยู่หลัด ๆ หาทราบไม่ว่า "ใกล้ตาแค่ไกลตีน" (สำนวนภาษาอีสาน คือ มองเห็นเป็นใกล้แต่ต้องเดินไกล) ขณะที่เดินข้ามทุ่งรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากและเป็นฤดูแล้งด้วยน้ำจะ ดื่มก็ไม่มีต้นไม้จะอาศัยร่มเงาแม้เพียงต้นเดียวก็ไม่มีทั้งแดดก็ร้อนจัด ต่างก็พากันอิดโรยไปตาม ๆ กัน ครั่งที่หาบมาจะทิ้งก็เสียดาย จึงพากันโอดครวญและคิดว่าคงจะเอาชีวิตมาตายในทุ่งนี้เป็นแน่แท้จึงพากัน ร้องไห้ไปตาม ๆ กัน
พวกกุลาต่างพากันร้องไห้แล้วได้พากันพักพอหายเหนื่อยจึงเดินทางต่อไปอีก แต่ครั่งที่หาบมาหนักมากพวกกุลาจึงพากันเทครั่งนี้ทิ้งบ้างเล็กน้อย ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อพวกกุลาเดินมาต่อไปอีกรู้สึกอิดโรยมาก ครั้นไปถึงกลางทุ่งจึงตัดสินใจเทครั่งทั้งหมดคงเหลือไว้แต่อาหารเท่านั้น บริเวณที่กุลาเทครั่งทิ้งทั้งหมดนี้ต่อมาได้ชื่อว่า บ้านครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อพวกกุลาเดินทางมาพ้นทุ่งแล้ว เข้าสู่หมู่บ้านมีคนมามุงดูจะขอซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่พวกกุลาไม่มีสินค้า จะขายให้แก่ชาวบ้าน พวกกุลาพากันเสียใจและเสียดายสินค้าที่ตนได้เททิ้งที่กลางทุ่ง พวกกุลาจึงพากันร้องไห้อีกเป็นครั้งที่สอง ทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ว่า "ทุ่งกุลาร้องไห้" มาตราบเท่าทุกวันนี้